วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560

เอธิโอเปีย...ถิ่นกำเนิดของกาแฟ

         เอธิโอเปีย...ตั้งอยู่ทางทิศตะวันอกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีความงดงามทางธรรมชาติและภูมิประเทศอันหลากหลายอยู่ในบริเวณหุบเขาทรุดแห่งแอฟริกาตะวันออก (The Great Rift Valley) ซึ่งเป็นกระบวนการหักทรุดของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดขึ้นมานานกว่า 25 ล้านปี เอธิโอเปียมีอารยธรรมเก่าแก่และประวัติความเป็นมาอันยาวนานกว่า 3,000 ปี ดินแดนที่เป็นประเทศเอธิโอเปียและบริเวณใกล้เคียงถือเป็น “แหล่งกำเนิดของมวลมนุษยชาติ (Cradle of Humankind)” อันเนื่องมาจากการค้นพบซากฟอสซิลและเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนโครงกระดูกเชื้อสายเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 3 ล้านปี ชาวเอธิโอเปียมีความภาคภูมิใจในชาติของตนที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของต่างชาติใดๆ นอกจากนี้ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมประเพณีของเอธิโอเปียยังมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น แม้จะมีความหลากหลายของชนเผ่ากลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ราว 85 ชนเผ่าก็ตาม

             เมืองหลวงของเอธิโอเปียคือ แอดดีส อบาบา ซึ่งดิฉันได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของเอธิโอเปียและสถานที่ที่สำคัญๆ ในกรุงแอดดิส อบาบา ในหนังสือวิทยุสราญรมย์ ฉบับที่ 27 เดื่อนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ. 2548

             ที่น่าสนในคือ เอธิโอเปียเป็นถิ่นกำเนิดของกาแฟที่ถูกนำไปเป็นเครื่องดื่มอันขึ้นชื่อของโลก ในหนังสือวิทยุสราญรมย์ฉบับนี้ดิฉันขอนำเรื่องของกาแฟ พร้อมด้วยเรื่องของอาหารพื้นเมืองอันโอชะของเอธิโอเปียมาเล่าสู่กันฟัง

             กาแฟ.....เป็นคำเรียกในภาษาไทย ส่วนคำในภาษาอังกฤษคือ คอฟฟี่ (coffee) นั้น เชื่อกันว่าออกเสียงมาจากคำว่า คัฟฟา (Kaffa) อันเป็นชื่อเขตบนที่ราบสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเอธิโอเปียที่ได้มีการค้นพบต้นกาแฟเป็นครั้งแรก และต่อมาเมื่อกาแฟถูกนำจากเอธิโอเปียออกไปยังประเทศเยเมนในคาบสมุทรอาระเบียได้มีการเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า คาห์เวห์ (qahweh) และยังมีการเรียกกาแฟกันอีกหลายชื่อ เช่น คาเฟ่ (café) คอฟเย (kofye) คาฮาวา (kahawa) คาฟ (kave) เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มาจากคำว่า คัฟฟา (kaffa) นั่นเอง ส่วนชาวเอธิโอเปีย เรียกกาแฟว่า บูนา (buna) สำหรับโลกตะวันตกแล้วเพิ่งรู้จักกาแฟกันเมื่อประมาณ 300 กว่าปีมานี้เอง

             มีหลายตำนานที่ได้กล่าวไว้แตกต่างกันในเรื่องการค้นพบต้นกาแฟในเอธิโอเปีย รวมถึงปีการค้นพบและการแพร่หลายของกาแฟ แต่ที่กล่าวถึงมากที่สุดคือ เรื่องของ “แพะเต้นระบำ (The Dancing Goats)” ซึ่งเป็นการค้นพบต้นกาแฟโดยชายหนุ่มเลี้ยงแพะชื่อ คาลดี (Kaldi) เมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขามีความประหลาดใจว่า แพะของตนซึ่งเคยขี้เกียจและชอบนอนตลอดเวลานั้น กลับมีความลิงโลด กระโดดเต้นไปมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยอีกทั้งไม่ยอมนอนด้วย เขาสังเกตเห็นว่าแพะของเขาเหล่านั้นมีอาการเช่นนี้ทุกครั้งหลังจากที่ได้กินผลของต้นพืชชนิดหนึ่งเข้าไป เขาจึงได้ลองทานดู และรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาทันที ตำนานได้กล่าวต่อไปว่า พระนักบวชจากโบสถ์บริเวณใกล้เคยงได้ไปพบเห็นคาลดีชายหนุ่มเลี้ยงแพะผู้นั้นกำลังมีอาการที่มีความสุขและกระชุ่มกระชวย พระนักบวชผู้นั้นจึงได้ลองเคี้ยวลูกเล็กๆ ของต้นพืชดังกล่าว และพบว่าในตอนกลางคืนระหว่างสวดมนต์นั้น ไม่รู้สึกง่วงนอน แต่กลับถูกกระตุ้นให้รู้สึกตื่นและมีความกระชุ่มกระชวยมากกว่าเวลาปกติ หลังจากนั้นท่านจึงได้นำผลของต้นพืชชนิดนี้ไปให้พระนักบวชอื่นๆ ลองทานเช่นกัน กล่าวกันว่า ในที่สุดพระนักบวชทุกคนในเอธิโอเปียได้ทานกันหมด และช่วยให้สามารถสวดมนต์ได้ในตอนกลางคืนโดยไม่รู้สึกง่วงนอนเลย

             ต้นพืชชนิดนั้น คือ กาแฟ นั่นเอง ซึ่งมีผลเป็นลูกเล็กๆเรียงกันเป็นช่อๆ เมื่อสุกเต็มที่ผลเหล่านั้นจะมีสีแดง ลักษณะคล้ายลูกเชอร์รี่ ภายในแต่ละลูกมีเมล็ดกาแฟอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมี 2 เม็ดประกบกัน แต่บางลูกก็มีเพียงเมล็ดเดียว ต่อมาพืชชนิดนี้ได้รับการเรียกชื่อว่า คัฟฟา (Kaffa) ตามชื่อของเขตที่ได้มีการพบต้นกาแฟเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ นับเป็นเวลาหลายร้อยปีที่ชาวเอธิโอเปียนิยมเคี้ยวเมล็ดกาแฟ (coffee beans) และไม่ได้นำไปต้มดื่มอย่างในปัจจุบัน โดยพวกเขานำทั้งเมล็ดหรือนำไปบดให้ละเอียด ผสมกับเนยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “กี (ghee)” แล้วปั้นเป็นก้อนไว้เคี้ยวทาน แม้ในปัจจุบันนี้ชาวเอธิโอเปียบางส่วนที่อาศัยอยู่ในคัฟฟาหรือเขตใกล้เคียง เช่น ซิดาโม (Sidamo Province) ยังคงนำเมล็ดกาแฟไปเคี้ยวทานแบบสมัยก่อนอยู่ นอกจากนี้ยังได้มีการนำเมล็ดกาแฟไปผสมกับเหล้าองุ่นและเครื่องดื่มที่ทำจากผลไม้และถั่วตากแห้ง จนกระทั้งในศตวรรษที่ 13 จึงได้มีการนำเมล็ดกาแฟไปต้มและทำเป็นเครื่องดื่มร้อน เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

             มีหลักฐานระบุว่ากาแฟได้ถูกนำเข้าไปเผยแพร่ในคาบสมุทรอาระเบียโดยพ่อค้าอาหรับชาวเยเมนเมื่อปี ค.ศ. 1000 ต่อมาได้มีการนำเมล็ดกาแฟไปต้มเป็นเครื่องดื่ม ชาวอาหรับไม่เพียงแต่รู้จักการปลูกกาแฟเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่เริ่มการค้าขายกาแฟด้วย จากนั้นมากาแฟได้ถูกนำไปแพร่หลายในเปอร์เซีย อียิปต์ ซีเรีย และตุรกี เหตุที่ทำให้กาแฟเป็นที่นิยมอาจมาจากปัจจัยที่ว่า ในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมดื่มแอลกอฮอล ดังนั้น กาแฟจึงเป็นเครื่องดื่มทดแทนสำหรับพวกเขาได้อย่างดี ในประเทศอาหรับนั้น กาแฟเป็นที่นิยมดื่มทั้งในบ้านและที่ร้านขายกาแฟที่เรียกว่า คาห์เวห์ คาเนท์ (qahveh khaneh) ซึ่งเริ่มมีขึ้นในเมืองต่างๆ ทั่วตะวันออกไกล นอกจากชาวอาหรัรบจะดื่มกาแฟและสนทนาพาทีระหว่างกันแล้ว พวกเขายังนิยมฟังเพลง ชมการแสดง เล่นหมากรุก และแลกเปลี่ยนข่าวสารของแต่ละวันด้วย ร้านขายกาแฟจึงเป็นศูนย์ของการแลกเปลี่ยนข่าวสารที่สำคัญของเมือง และเรียกกันว่าเป็น “โรงเรียนของนักปราชญ์ (School of the Wise)” นอกจากนี้ การที่นักแสวงบุญจากทั่วโลกได้เดินทางไปที่นครมักกะห์ทุกปี ทำให้ชื่อเสียงของเครื่องดื่มกาแฟที่ชาวอาหรับเรียกกันว่าเป็น “ไวน์ของชาวอาหรับ (Wine of Araby)” นั้น แพร่หลายขจรขจายออกไปยังนอกคาบสมุทรอาระเบีย ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาความเป็นผู้ผูกขาดในการค้าขายกาแฟ ชาวอาหรับได้พยายามอย่างยิ่งที่จะปกป้องเรื่องการปลูกกาแฟของตน

             อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1615 พ่อค้าชาวดัชท์สามารถนำกาแฟจากอาหรับออกไปยังยุโรปได้เป็นครั้งแรก จากนั้นกาแฟได้กลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเป็นเครี่องดี่มที่ได้รับความนิยมจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและวัฒนธรรมของโลกตะวันตกเลยทีเดียวสังคมชั้นสูงของยุโรปเรียกกาแฟว่าเป็น “เครื่องดื่มของนักปราชญ์”ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำไปสู่การเพร่หลายของกาแฟ คือ การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาในยุโรป และในเอเชียใต้ ซึ่งในครั้งแรกนั้นเป็นการแผ่ขยายโดยอาณาจักร ออตโตมาร (Ottoman Empire) และต่อมาโดยพ่อค้าและการเดินเรือระหว่างกัน ซึ่งทำให้กาแฟได้เริ่มแพร่เข้าไปยังเมืองท่าริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะที่นครเวนิส (Venice) อันเป็นเมืองท่าสำคัญของอิตาลีที่มีเรือสินค้าจากเอเชียไปจอดเทียบท่าเพื่อซื้อขายสินค้ากันมากมาย กาแฟจึงถูกนำไปแพร่หลายในเอเชียในเวลาต่อมา

             ที่นครเวนิสในช่วงแรกนั้น ราคาของกาแฟสูงมาก เฉพาะผู้มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น ต่อมากาแฟเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ราคากาแฟถูกลง และได้มีการตั้งร้านขายกาแฟ (corree shop) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1640 จากนั้นเมืองอื่นๆ ในอิตาลีได้ทำการเปิดร้านขายกาแฟขึ้นเช่นกัน มีเรื่องเล่ากันมาว่าในช่วงแรกๆ ได้มีชาวคริสต์บางกลุ่มต่อต้านเครื่องดื่มกาแฟ โดยเห็นว่าเป็นเครื่องดื่มแห่งความชั่วร้าย จึงได้เรียกร้องให้พระสันตะปาปา Clement ที่ 8 เป็นผู้ตัดสินซึ่งก่อนที่พระองค์จะทรงวินิจฉัยก็ได้ทรงลองดื่มกาแฟ ปรากฏว่าพระองค์ทรงพอใจในรสชาติของกาแฟ จึงได้ทรงตัดสินอนุญาตให้ชาวคริสต์ดื่มกาแฟได้โดยไม่เป็นบาป ทำให้กาแฟได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีหลักฐานระบุด้วยว่าในปี ค.ศ. 1801 ที่เมืองมิลาน (Milan) ประเทศอิตาลีมีการนำเมล็ดกาแฟไปผสมทำเป็นยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ ด้วย

             การส่งออกกาแฟจากอาหรับไปขายยังยุโรปมีขึ้นที่เมืองท่าอเล็กซานเดรีย (Alexandria) และเมืองสไมร์นา (Smyrna) ในประเทศอียิปต์ อย่างไรก็ตาม จากความต้องการที่มากขึ้นของตลาด ตลอดจนความรู้เทคโนโลยีในการปลูกต้นกาแฟ และภาษีที่ถูกเรียกเก็บอย่างแพงตามเมืองท่าส่งออก ทำให้พ่อค้าขายเมล็ดกาแฟและนักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าการปลูกกาแฟในประเทศอื่นๆ แทนการนำเข้าจากประเทศอาหรับเหล่านี้ เช่น สเปน และโปรตุเกส ได้ทดลองปลูกกาแฟในประเทศอานานิคมของตนทั้งในเอเชียและอเมริกาส่วนชาวดัชท์ไปทดลองปลูกกาแฟในเขตอาณานิคมของตนในชวาและปัตตาเวีย ซึ่งเมื่อประสบความสำเร็จก็ได้นำพันธุ์กาแฟไปปลูกต่อที่เกาะสุมาตราและเกาะเซเลเบส (Celebes) ชาวดัชท์เป็นยุโรปชาติแรกที่ได้ตั้งบริษัทค้าขายกาแฟขึ้นที่เกาะชวาด้วย ในปี ค.ศ. 1714 นายกเทศมนตรีของเมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ได้มอบต้นกาแฟให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์ได้ทรงนำไปทดลองปลูกในสวนพฤกษชาติ (Royal Botanical Garden) ในกรุงปารีส ต่อมาในปี ค.ศ. 1723 นายกาเบรียล แมททิว เดอ คลิเออ (Gabriel Mathieu de Clieu) นายทหารเรือฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้นำเอาต้นกาแฟจากสวนพฤกษชาติดังกล่าวไปทดลองปลูกที่เกาะมาร์ตินิค (Martinique) ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียน ต้นกาแฟเหล่านั้นได้เติบโตและแพร่ขยายอย่างรวดเร็วมากว่า 18 ล้านต้นใน 50 ปี และพันธุ์กาแฟจากที่แห่งนี้เองที่ได้แพร่ขยายไปทั่วหมู่เกาะแคริบเบียนและต่อไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ด้วย

             สำหรับประเทศบราซิลนั้น มีเรื่องเล่าว่า พันเอก ฟรานซิสโก เดอ เมลโล พาลเฮตา (Col. Francisco de Mello Palheta) ชาวบราซิล ได้เป็นผู้นำเมล็ดกาแฟจากอาณานิคมฝรั่งเศสที่แฟรนซ์ กีอานา (French Guiana) ไปปลูก โดยภริยาของผู้ว่าการแห่งเฟรนซ์ กีอานาได้ลักลอบนำเอาเมล็ดของต้นกาแฟซ่อนไว้ในช่อดอกไม้มอบให้เป็นของขวัญแก่นายพาลเฮตานั่นเอง การปลูกกาแฟมีขึ้นอย่างจริงจังทางเหนือของประเทศบราซิล แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีการย้ายที่ปลูกไปยังริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) และ ต่อมาย้ายไปที่ซานเปาโล (San Paolo) และมินาส (Minas) / ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้กาแฟกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของบราซิลจากนั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เมื่อปี ค.ศ.1975 ได้เกิดโรคระบาดต้นกาแฟ ทำให้เกิดการขาดแคลนกาแฟในบราซิลจึงได้มีการคิดค้นนำเอาพืชหรือรากของพืชชนิดอื่นไปทำเพื่อทดแทนเป็นกาแฟ ซึ่งพืชชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาคือ ซิคโครี (chicory) แม้ว่าต่อมาจะมีการผลิตกาแฟได้เหมือนเดิม แต่เครื่องดื่มทดแทนกาแฟก็ได้กลายเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ไม่สามารถดื่มกาแฟซึ่งมีสารคาเฟอีนได้

             ในอังกฤษนั้น การดื่มกาแฟได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในกลางศตวรรษที่ 17 มีร้านขายกาแฟมากว่า 300 แห่งในกรุงลอนดอน ซึ่งร้านเหล่านี้ได้กลายเป็นที่รวมของพ่อค้า นักเดินเรือและศิลปินอีกด้วย สำหรับอาณานิคมของอังกฤษในโลกใหม่ (New World) คือสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันทั้น เมื่อกลางทศวรรษที่ 1600 ชาวอังกฤษได้นำกาแฟเข้าไปยังเมืองนิว อัมสเตอร์ดัม (New Amsterdam) ซึ่งต่อมาคือนครนิวยอร์คนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ร้านขายกาแฟจะเกิดชึ้นอย่างรวดเร็วในโลกใหม่แห่งนี้ แต่ผู้คนยังนิยมดื่มชากันมาก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1773 เมื่อชาวอาณานิคมก่อการปฏิวัติเรื่องภาษีในชาที่เมืองบอสตัน (Boston Tea Party) เพราะกษัตริย์จอร์จ (King George) แห่งอังกฤษได้ทรงบัญชาให้มีการขึ้นภาษีใบชา จึงกล่าวกันว่าการปฏิวัติเรื่องภาษีใบชานั้นได้มีส่วนทำให้ชาวอาณานิคมหันไปนิยมกาแฟแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น